วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

goodhealth ทำอย่างไรเมื่อปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ


goodhealth ทำอย่างไรเมื่อปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ
โรคกระเพาะปัสสาวะไวเกิน เป็นได้อย่างไร
เกิดจากกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะบีบตัวบ่อยและเร็วกว่าปกติ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ
(มากกว่า 8 ครั้งต่อวัน) รวมทั้งต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะ ตอนกลางคืนบ่อยๆ จนรบกวนการนอนหลับปกติ
เวลาปวดปัสสาวะ จะรู้สึกปวดปัสสาวะอย่างรุนแรง และต้องรีบเข้าห้องน้ำอย่างเร่งด่วน เพราะทนกลั้นปัสสาวะไม่ได้
และน้อยครั้งที่จะกลั้นอยู่ อาจมีปัสสาวะ เล็ดราด เนื่องจากไม่สามารถทนกลั้นปัสสาวะได้ จากการรีบด่วนนั้น
ภาวะนี้ทำให้ผู้ป่วยเกิดความรำคาญ ไม่กล้าเข้าสังคม มีผลต่อความสะอาดของบริเวณช่องคลอด และขาหนีบ
ผู้ป่วยจะไม่อยากไปไหน เนื่องจากไม่มั่นใจว่า จะมีห้องน้ำอยู่ใกล้ๆ บริเวณที่จะไปหรือไม่


อะไรคือสาเหตุ
สาเหตุ ส่วนใหญ่ของสภาวะกระเพาะปัสสาวะไวเกินยังไม่ทราบแน่ชัด
เชื่อว่าเกิดจากระบบประสาทที่บริเวณกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะผิดปกติ
ทำให้กล้ามเนื้อบีบตัวบ่อยและไวกว่ากำหนด โดยที่ยังมีปริมาณปัสสาวะไม่มากพอที่จะทำให้รู้สึกปวดปัสสาวะ
สาเหตุอีกส่วนหนึ่ง คือ พบร่วมกับภาวะการอักเสบ ติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ
ภาวะหมดประจำเดือนและโรคทางระบบประสาทบางชนิด


สตรีวัยไหน
อาจพบได้ในสตรีทุกช่วงอายุ แต่อุบัติการจะพบมากในช่วงอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
โรคนี้ไม่ได้เกิดเนื่องจากการที่มีอายุเพิ่มขึ้น ทางการแพทย์ถือเป็นความผิดปกติอย่างหนึ่งและเป็นภาวะที่รักษาได้


รักษาได้อย่างไร

1. การควบคุมปริมาณน้ำที่รับประทาน ให้รับประทานน้ำตามปกติ ไม่ให้ทานมากเกินไป
เพราะจะทำให้ปวดปัสสาวะบ่อย ในกรณีที่ผู้ป่วยทานยาขับปัสสาวะอยู่นั้น อาจให้ปรับเวลาทานยาขับปัสสาวะใหม่ให้
เหมาะสม รวมทั้งควบคุมอาหารปริมาณน้ำ และสารบางอย่างที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะด้วย เช่น ชา,กาแฟ

2. ใช้ยาควบคุมการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ ยาที่เป็นยาหลักในการรักษาคือ ยาในกลุ่ม
Anticholinergic จะออกฤทธิ์คลายการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ลดการบีบตัวที่
ไวเกินปกติของกระเพาะปัสสาวะ การใช้ยาจะต้องมีการปรับขนาดยาให้เหมาะต่อผู้ป่วยแต่ละราย
ยาในกลุ่มนี้มีหลายชนิด ต่างกันที่ราคา และผลข้างเคียงของยา

3. การฝึกกระเพาะปัสสาวะ โดยการฝึกควบคุมระบบประสาทที่ควบคุมการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ
เป็นการฝึกเพิ่มช่วงระยะเวลาของการเข้าห้องน้ำให้ห่างออกไป เช่น จากเดิมต้องเข้าทุกๆ 1 ชั่วโมงให้เพิ่มเป็น
1 ชั่วโมงครึ่งและ เพิ่มเป็น 2 ชั่วโมงตามลำดับ เป็นการฝึกให้กระเพาะปัสสาวะเก็บปัสสาวะให้มากพอ
โดยไม่มีอาการบีบตัวไวกว่าปกติ เป็นการฝึกกกลั้นปัสสาวะ โดยฝึกที่ระบบประสาทส่วนกลาง (สมอง)
ซึ่งส่งสัญญาณควบคุมความรู้สึกปวดปัสสาวะให้ยืดยาวออกไป
ผู้ป่วยควรขมิบช่องคลอดร่วมด้วย ซึ่งจะลดอาการอยากถ่ายปัสสาวะลง

4. การใช้ไฟฟ้ากระตุ้นที่เส้นประสาทบริเวณก้นกบ (Sacral nerve stimulation)
การใช้ไฟฟ้ากระตุ้นที่เส้นประสาทบริเวณก้นกบ จะช่วยลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะลง
การรักษาโดยวิธีนี้ ต้องมีการผ่าตัดฝังตัว กระตุ้นสัญญาณไฟฟ้าที่หน้าท้อง และกระดูกก้นกบด้วย
และต้องมีการทดสอบในช่วงแรกว่าได้ผล จึงผ่าตัดฝังเครื่องชนิดถาวร (อยู่ได้ 5 ปี)
การรักษาวิธีนี้ มีราคาแพง และยังอยู่ในระหว่างการวิจัย

5. การผ่าตัด มีการผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะบางส่วน
หรืออาจนำลำไส้เล็กบางส่วนมาเย็บต่อกับกระเพาะปัสสาวะ เพื่อทำให้การบีบตัวไม่มีผลทำให้ปวดปัสสาวะบ่อย
การผ่าตัดมีผลแทรกซ้อนมาก และนิยมทำในรายที่รักษาโดยการใช้ยาแล้วไม่ได้ผล

6. วิธีการอื่นๆ เช่นการใช้ยาหรือสารบางชนิด
เช่น Capsaicin ใส่ไปในกระเพาะปัสสาวะซึ่งยังอยู่ในระหว่างทดลอง


แหล่งข่าว กรุงเทพธุรกิจ

รายการบล็อกของฉัน